หลักเศรษฐศาสตร์
อุปสงค์ต่อราคา (price demand) หมายถึง ปริมาณของสินค้าและบริการที่มีผู้บริโภคต้องการซื้อ ณ ระดับราคาต่าง ๆ ของสินค้าและบริการชนิดนั้น ๆ ในระยะเวลาที่กำหนด โดยสมมติ กำหนดให้ปัจจัยที่มีผลต่อพฤติกรรมการบริโภคอื่น ๆ คงที่ เช่น
- หากต้องการศึกษาอุปสงค์ต่อราคาของสินค้า ก. นั้น ก็จะพิจารณาเฉพาะการเปลี่ยนแปลงไปในราคาสินค้า ก. อย่างเดียว ว่ามีผลกระทบต่อความต้องการของผู้บริโภคอย่างไร โดยที่สมมติ กำหนดให้ปัจจัยอื่น ๆ เช่น รายได้ของผู้บริโภค ราคาสินค้าชนิดอื่น (สินค้า ข.) ที่เกี่ยวข้องไม่เปลี่ยนแปลง เป็นต้น
อุปสงค์ต่อรายได้ (income demand) หมายถึง ปริมาณของสินค้าและบริการที่มีผู้บริโภคต้องการซื้อ ณ ระดับรายได้ต่าง ๆ กัน ในระยะเวลาที่กำหนด โดยสมมติ กำหนดให้ปัจจัยที่มีผลต่อพฤติกรรมการบริโภคอื่น ๆ คงที่ เช่น
- หากต้องการศึกษาอุปสงค์ต่อรายได้ของนาย ก. ที่มีต่อสินค้าชนิดใดชนิดหนึ่ง ก็จะพิจารณาเฉพาะการเปลี่ยนแปลงไปในรายได้ของนาย ก. อย่างเดียว ว่ามีผลกระทบต่อความต้องการในสินค้านั้น ๆ อย่างไร โดยที่สมมติ กำหนดให้ปัจจัยอื่น ๆ เช่น ราคาของสินค้าชนิดนั้น ราคาสินค้าชนิดอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องไม่เปลี่ยนแปลง เป็นต้น
อุปสงค์ต่อราคาสินค้าชนิดอื่นที่เกี่ยวข้อง (cross demand) หมายถึง ปริมาณของสินค้าและบริการที่มีผู้บริโภคต้องการซื้อ ณ ระดับราคาต่าง ๆ ของสินค้าและบริการชนิดอื่นที่เกี่ยวข้องกัน ในระยะเวลาที่กำหนด โดยสมมติ กำหนดให้ปัจจัยที่มีผลต่อพฤติกรรมการบริโภคอื่น ๆ คงที่ เช่น
- หากต้องการศึกษาอุปสงค์ต่อราคาสินค้าชนิดอื่นที่เกี่ยวข้องกัน หากว่าเราบริโภคสินค้า ก. เป็นประจำ ในกรณีของการศึกษาดังกล่าวก็จะพิจารณาเฉพาะการเปลี่ยนแปลงไปในราคาสินค้าอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับสินค้า ก. เช่น สินค้า ข. ว่ามีผลกระทบต่อความต้องการสินค้า ก.ที่เราบริโภคเป็นประจำนั้นอย่างไร โดยที่สมมติ กำหนดให้ปัจจัยอื่น ๆ เช่น ราคาของสินค้าชนิดนั้น รายได้ของผู้บริโภค ไม่เปลี่ยนแปลง เป็นต้น
การประกันราคาขั้นต่ำ (Price support) คือ การกำหนดราคาซื้อขายไว้สูงกว่าราคาดุลยภาพ (ซึ่งนักศึกษาก็ได้เรียนไปแล้วว่าณ จุดดุลยภาพนั้นเป็นจุดที่ปริมาณความต้องการซื้อเท่ากับปริมาณความต้องการขายพอดี) ทั้งนี้ก็เพื่อยกระดับราคาสินค้าที่ต่ำเกินไปนั่นเอง ส่วนใหญ่เป็น สินค้าการเกษตร
แล้วทำไมต้องประกันราคาขั้นต่ำ หล่ะ??
ปกติถ้าเราปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาดก็จะต้องมีการซื้อขายกันที่จุดดุลยภาพ ซึ่งรัฐบาลมองว่าราคาดุลยภาพเป็นราคาที่ต่ำเกินไป เรียกได้ว่าพ่อค้าคนกลางมักจะซื้อสินค้าเกษตรในราคาที่ต่ำ ทำให้รัฐบาลต้องเข้ามาแทรกแซงค่ะ โดยกำหนดราคาขั้นต่ำสูงกว่าราคาดุลยภาพนั่นเอง
มาตรการที่ 1 รัฐบาลรับซื้ออุปทานส่วนเกิน(Excess Supply)
โดยรัฐบาลจะตั้งราคาประกันขั้นต่ำและต้องมีการซื้อขายกันที่ราคานี้ ไม่อย่างนั้นจะผิดกฎหมาย คราวนี้ลองคิดดูนะคะว่าถ้าเราเป็นผู้ซื้อแล้วเจอราคาที่สูงกว่าราคาดุลยภาพ(ราคาที่เรายอมรับได้) นักศึกษาจะอยากซื้อหรือไม่ แต่ที่แน่ๆผู้ขายคือเกษตรกรชอบแน่นอน
คราวนี้จึงเกิดอุปทานส่วนเกินขึ้นคือปริมาณความต้องการขายมากกว่าปริมาณความต้องการซื้อ สินค้าเกษตรก็จะเหลือใช่มั้ยคะ
คำถามคือ รัฐบาลจะจัดการกับสินค้าเกษตรอย่างไร???
1. รัฐบาลจะรับซื้ออุปทานส่วนเกินทั้งหมด จึงต้องมีงบประมาณรายจ่ายของรัฐบาล(ศึกษาเพิ่มเติมได้จาก Powerpointค่ะ)
2. ต้องเตรียมไซโลไว้รองรับสินค้าเกษตรที่รัฐบาลรับซื้อ
คำถาม สินค้าที่รับซื้อจะนำไปทำอะไร
1. ช่วยเหลือประชาชนที่เดือดร้อน เช่น น้ำท่วม ภาวะแห้งแล้ง
2. บริจาคต่างประเทศที่ประสบปัญหาด้านต่างๆ
3. นำออกจำหน่ายในตลาด
คำถาม รัฐบาลจะมีหนทางอื่นอย่างไร
1. รัฐบาลหาทางลดการผลิตให้น้อยลง โดยชักชวนหรือส่งเสริมให้เกษตรกรหันไปปลูกพืชอื่นที่รายได้ดีกว่า
คราวนี้ลองมีดูสภาพความเป็นจริงกันบ้าง ยกตัวอย่างเช่น การประกันราคาข้าวเปลือก สามารถทำได้บางพื้นที่ เพราะฉะนั้นเราควรเรียกว่า
"การพยุงราคา" คือ การที่รัฐบาลดำเนินการรับซื้อผลผลิตเฉพาะในบางท้องที่ เพื่อกระตุ้นให้ราคาตลาดสูงขึ้น
นักศึกษาท่านใดที่สนใจทำรายงานเรื่องนี้สามารถค้นคว้าเพิ่มเติม โดยมองจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในปัจจุบันด้วยค่ะ
การกำหนดราคาขั้นสูง(Price Ceiling)
- รัฐบาลเข้ามาแทรกแซงการทำงานของกลไกราคาในตลาดที่มีการแข่งขัน จะเป็นสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็น เพราะมองว่าราคาสินค้าในตลาดสูงเกินไป จะทำให้ผู้บริโภคเดือดร้อน
- รัฐบาลจะกำหนดราคาซื้อขายสินค้าไว้ต่ำกว่าราคาดุลยภาพเพื่อช่วยเหลือผู้บริโภค
คำถาม: รัฐบาลจะทำอย่างไร ???
1. เข้าแทรกแซง โดยการกำหนดราคาขั้นสูง
- กรณีนี้จะเกิดอุปสงค์ส่วนเกิน (Excess Demand) ตามทฤษฎี จริงมั้ยคะ เพราะถ้ารัฐบาลประกันราคาต่ำกว่าราคาดุลยภาพ ของถูกผู้ซื้อชอบ แต่ผู้ขายไม่ชอบ จึงเกิดสินค้าขาดแคลนขึ้น
- จึงเกิดปัญหาตลาดมืด(Black Market) มีการลักลอบขายสูงกว่าราคาประกันขั้นสูง
2. ถ้ารัฐบาลต้องการตรึงราคาไว้ที่ ราคาประกันขั้นสูง
- ต้องลดอุปสงค์ต่อสินค้านั้นให้เท่ากับอุปทาน ณ ระดับราคาประกันขั้นสูง เช่น
- นโยบายการปันส่วนสินค้า (ผู้บริโภคจะซื้อเกินสิทธิที่ให้ไม่ได้)
โดยการแจกคูปองแสดงสิทธิในการซื้อสินค้า
- การนำสินค้าจากต่างประเทศเข้ามาให้เพียงพอกับความต้องการของผู้บริโภค